กระต่ายน้อยตัวหนึ่งชื่อ จูดี้ ฮอปส์ ตามฝันเข้ามาทำงานเป็นตำรวจในซูโทเปียและพบว่าที่นี่ไม่ได้สวยงามอย่างที่เธอคิด ก่อนจะจับพลัดจับผลูไปรู้จักจิ้งจอก 18 มงกุฎชื่อ นิค ไวลด์ แล้วทั้งคู่ก็เข้าไปพัวพันในคดีสัตว์หายของเมืองจนเกิดเป็นการผจญภัย
ระหว่างเรื่องดำเนินไปอย่างน่าตื่นเต้น เราสัมผัสได้ว่าสัตว์ในเรื่องคือตัวแทนมนุษย์ดีๆ นี่เอง การใช้ตัวละครทุกตัวเป็นสัตว์จึงเป็นสัญลักษณ์แสบๆ คันๆ เล็กน้อย ในซูโทเปียที่จั่วหัวว่าเปิดกว้างสำหรับทุกคนและมีคนหลากหลายอยู่ด้วยกัน (คุ้นๆ เหมือนเมืองใหญ่แถวๆ อเมริกาไหม) ตัวละครยังเจอการดูถูกและกดขี่ผ่านแนวคิด Stereotype ที่ฝังหัว เช่น คนเชื่อว่าเกิดเป็นจิ้งจอกต้องขี้โกง เกิดเป็นกระต่ายต้องอ่อนแอ เก่งแค่ทำลูก และสมควรเป็นแค่ชาวสวน
ลองนึกเปรียบเทียบง่ายๆ ถึงมหานครใหญ่ที่มีผู้คนหลากเชื้อชาติ (หรือที่ใดก็ตาม) ปฏิเสธได้หรือว่าเราอยู่ร่วมกันโดยไม่มีใครเผลอตัดสินใครก่อนเพราะคำจำกัดความที่ถูก ‘เล่าซ้ำ’ ต่อๆ กันมา ไม่ว่าจะผ่านข่าวสาร ผ่านปากของผู้คน ยังไม่นับเรื่องการนำแนวคิดเหล่านี้มาใช้ทำร้ายกลุ่มคนที่เราไม่ชอบด้วยวิธีการต่างๆ เช่นปลุกปั่นด้วยความกลัว และแม้เราจะเป็นมนุษย์ แต่เรากำลังมองตัวเองเป็นผู้ล่า และมองใครเป็นเหยื่ออยู่หรือไม่?